หลวงพี่น้ำฝนชี้ควรดูแลตนเอง ด้วยภูมิปัญญาไทย

ดูแลตนเอง ด้วยภูมิปัญญาไทย

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์  หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม  เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลงได้โดยง่าย ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายวันแตะหมื่น และมียอดผู้เสียชีวิตแตะร้อย กดกราฟไม่ลงเลย นับว่าสายพันธุ์เดลต้านี้ร้ายกาจอย่างยิ่งจริง ๆ ในขณะที่แต่ละคนก็ทยอยเข้ารับวัคซีน ซึ่งแม้ทุกวันจะมีคนฉีดวัคซีน แต่ด้วยจำนวนวัคซีน และกำลังคนที่จำกัด ทำให้กว่าจะฉีดจนถึงระยะที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันหมู่ก็น่าจะอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราทุกคนก็ควรจะดูแลสุขภาพตนเองให้ดี อย่างน้อยที่สุด คือการดูแลสุขภาพของตนเอง อันเมืองไทยของเรานั้นก็มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเองมาตั้งแต่ปางบรรพ์ นั่นคือ การแพทย์แผนไทย

พูดถึงเรื่องการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยของเรานี้มีมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่หลายอย่างก็ยังคงมีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นที่นิยมสืบมา เช่น การนวดแผนไทย ที่มีการนวดเฟ้น กดจุด ดัด บิด ซึ่งช่วยแก้อาการปวดเมื่อยและความเจ็บป่วยบางอย่างได้อย่างดี หรือที่ใกล้ตัวเราก็คือ สมุนไพร

สมุนไพร ก็คือ พืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่มีสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพืช เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ อาตมาจะขอเล่าเรื่องของบุคคลหนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านผู้นี้คือ ชีวกโกมารภัจจ์

ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเด็กกำพร้า เป็นลูกของหญิงงามเมือง (โสเภณี) สมัยก่อนหญิงงามเมืองเป็นอาชีพที่มีหน้าตา ถือเป็นหญิงงามประจำเมืองที่พ่อค้าคหบดี ไปจนถึงมหาราชาเจ้าแผ่นดินต้องการจะลิ้มรส พอนางเกิดตั้งครรภ์ อุ้มท้องจนคลอดบุตรก็ให้สาวใช้ของตนพาเด็กไปทิ้งบนกองขยะเสีย คงเพราะถ้ามีลูกขึ้นมาเมื่อไหร่ คุณค่าราคาก็จะน้อยลง หมดความสาว แต่เคราะห์ดีที่พระอภัยราช พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์มาเห็นเข้า จึงนำไปชุบเลี้ยงไว้จนเติบโต ให้ชื่อว่า ชีวกะ แต่ครั้นชีวกะโตขึ้น รู้ความจริงว่าตนมิใช่ลูกแท้ ๆ ของพระอภัยราช จึงตัดสินใจหนีไปเรียนวิชาที่เมืองตักสิลา ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน นับว่าห่างไกลมาก แต่ว่าชีวกะก็ดั้งด้นไป ไปเข้าเรียนในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

ชีวกะเป็นคนฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว จนในขั้นสุดท้าย ชีวกะถามว่าเมื่อใดจะเรียนจบ อาจารย์ได้ทดสอบความรู้ของชีวกะด้วยการให้โจทย์ว่า จงออกไปหาพืชที่ไม่มีสรรพคุณทางยาในทั้งสี่ทิศ ทิศละหนึ่งโยชน์ ให้เสียมกับตะกร้าออกไป เมื่อชีวกะออกไปหาพืชที่ไม่ใช่ยาทั้งสี่ทิศจนครบแล้ว ชีวกะกลับมาหาอาจารย์พร้อมตะกร้าเปล่า อาจารย์จึงบอกว่า เจ้าเรียนจบแล้ว มีวิชาเลี้ยงชีพได้ ชีวกะจึงได้กลับบ้าน ระหว่างกลับบ้าน ชีวกะได้ช่วยรักษาภรรยาของเศรษฐีรายหนึ่งที่ปวดหัวมานานจนหาย จึงได้ค่าตอบแทนเป็นอันมาก พอชีวกะกลับมาถึงกรุงราชคฤห์ ก็นำเงินที่ได้ถวายพระอภัยราช แต่พระอภัยราชไม่รับ ภายหลังชีวกะสามารถรักษาโรคให้พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ และภายหลังได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าด้วย

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พืชใด ๆ ในโลกนั้นล้วนมีสรรพคุณทางยาได้ทั้งสิ้น เพียงแต่เราต้องใช้ให้เป็น ถ้าเราไปดูของคู่ครัว อาหารไทยของเราที่เรากินกันอยู่ทุกวัน เราพบว่าเรากำลังกินสมุนไพรอยู่ เรากินอาหารเป็นยา นี่คือมรดกภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบมาอย่างยาวนาน

สมุนไพรแต่ละชนิดมีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป และสมุนไพรเหล่านี้ล้วนอยู่ในอาหาร ถ้าเรามองดูต้มยำที่เรากินสักชามหนึ่ง เราจะพบว่านี่คือต้มสมุนไพรดี ๆ นี่เอง ต้มยำหนึ่งชาม มี ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า พริกขี้หนู น้ำมะนาว บางคนอาจใส่หอมแดง เป็นอาหารที่ครบรส เราจะมาดูสรรพคุณของต้มยำหนึ่งชาม

ตะไคร้ ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด ขับลม น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ทำให้ตื่นตัว สดชื่น

ใบมะกรูด แก้ไอ กัดเสมหะในคอ ขับลม แก้จุกเสียด

ข่า ขับลม เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยย่อยอาหาร แก้จุกเสียด

พริกขี้หนู ให้รสเผ็ด ทำให้ร่างกายตื่นตัว อารมณ์ดี เจริญอาหาร บรรเทาอาการปวด

น้ำมะนาว แก้ไอ ขับเสมหะ ชุ่มคอ

หอมแดง ขับลม แก้ปวดท้อง

ต้มยำชามหนึ่งจึงมีครบรส มีคุณค่าทางยาอย่างครบครัน เครื่องแกงก็เช่นกัน สมุนไพรไม่ใช่สิ่งไกลตัว กินได้ทุกวัน การดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี จึงเริ่มต้นได้ที่อาหารการกิน เป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้ปากเรานี่เอง

ตามหลักอายุรเวท อันเป็นที่มาแห่งการแพทย์แผนไทย อาหารการกินที่ดีจะทำให้ธาตุทั้งห้าในร่างกายมีความสมดุล การเกิดโรคขึ้นนั้นมาจากความไม่สมดุลของธาตุ เช่น โรคประเภทหวัด ไข้ หลอดลมอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากโทษกผะ (เปียก ชื้น) โทษกผะแก้ด้วยสมุนไพรรสขม ฝาด หรือเผ็ด ซึ่งมีลักษณะแห้ง ฟ้าทะลายโจร หรือบอระเพ็ด ซึ่งมีรสขม จึงใช้แก้ไข้แก้หวัดได้ดีตามหลักของธาตุในอายุรเวท หรือการกินอาหารที่มีรสเผ็ด ก็จะขับเหงื่อ ลดกผะลงไปได้

นอกจากการรักษาโรคทางกายแล้ว หลักอายุรเวทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาใจ เพราะหากกายแข็งแรง แต่จิตไม่แข็งแรง กายก็ย่อมเสื่อมตาม เป็นโชคดีของชาวพุทธที่มีตำรับยารักษาดวงใจจากพระพุทธองค์ นั่นคือ ธรรมะ เพราะจิตใจที่มีคุณภาพ ย่อมระงับเพลิงที่เผาจิต หรือย่อมกระตุ้นใจที่เย็นชาได้ หากใจเราร้อนรุ่ม หรือใจเราหดหู่ นั่นนำไปสู่ความไม่สมดุลของธาตุในร่างกายด้วย กายและจิตในทรรศนะของอายุรเวท รวมถึงการแพทย์แผนไทยต้องเป็นเอกภาพ ถ้าดีก็ดีไปด้วยกัน ถ้าร้ายก็ย่อมร้ายไปด้วยกันด้วย

ขอเจริญพร