ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ขอความร่วมมือจากเรือนจำก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขัง ขอให้สวอปหาเชื้อโควิด -19 ก่อนที่จะปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดสงขลา ซึ่งผู้ที่ถูกปล่อยตัวกลับมาจังหวัดตรัง และถูกนำตัวไปตรวจพบว่าผลเป็นบวก
ที่ศูนย์แถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ห้องลิบง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายแพทย์ ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง พร้อมด้วย แพทย์หญิง ทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในพื้นที่ จำนวน 3 ราย รับผู้ป่วยมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม จำนวน 6 ราย และเป็นผู้ต้องขังพ้นโทษจากเรือนจำจังหวัดสงขลา 1 ราย รวม 10 ราย เป็นผู้ป่วยเพศชาย 4 ราย เพศหญิง 6 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ อยู่ในพื้นที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง 2 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่รับมาจากจังหวัดสีแดงเข้ม ,อำเภอห้วยยอด 2 ราย (ตำบลเขากอบ 1 และตำบลนาวง 1 ราย) เป็นผู้ติดเชื้อที่รับมาจากจังหวัดสีแดงเข้ม , อำเภอกันตัง 3 ราย (ตำบลกันตัง 1 ราย และตำบลบางเป้า 2 ราย ) ทั้ง 3 รายเป็นผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง , อำเภอปะเหลียน 2 ราย (ตำบลเกาะสุกร 1 ราย เป็นผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดสงขลา และตำบลแหลมสอม 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่รับมาจากจังหวัดสีแดงเข้ม และตำบลวังมะปรางเหนือ อำเภอวังวิเศษ 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่รับมาจากจังหวัดสีแดงเข้ม รวมมียอดผู้ป่วยสะสมในระลอกเดือนเมษายน (1 เมษายน 2564 – 13 กรกฎาคม 2564) จำนวน 1,752 ราย อัตราพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยในรอบสัปดาห์ 7.57 รายต่อวัน
นายแพทย์ ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา รวมถึงการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดส ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า หรือวัคซีน mRNA ที่มีใช้ในประเทสไทย โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป ในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟา มาเป็นเดลตา จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจากเรือนจำ ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังขอให้ทำการสวอปก่อนที่จะปล่อยตัวออกมาสู่ภายนอก เนื่องจากที่ผ่านมาเรือนจำจังหวัดสงขลาได้ปล่อยผู้ต้องขังออกมาและได้เดินทางกลับมาบ้านที่จังหวัดตรัง ไม่มีการตรวจแต่อย่างใด อีกทั้งจังหวัดสงขลายังเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เมื่อผู้ที่ถูกปล่อยตัวได้เดินทางกลับมาบ้านที่จังหวัดตรัง ทาง อสม.และฝ่ายปกครองได้นำตัวไปตรวจหาเชื้อซึ่งผลปรากฏเป็นบวก ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำตัวไปรักษาและตรวจหาเชื้อบุคคลในครอบครัวอีกด้วย และฝากถึงประชาชนหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ที่มีการแพร่ระบาด อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19ได้
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง