พช.อุบลฯ ขานรับ เตรียมพื้นที่ปลูกสมุนไพร กระชาย ฟ้าทะลายโจร ป้องกันและบรรเทาโควิด-19 พร้อมนำผลผลิตจาก “โคก หนอง นา พช.” เชื่อมโยงตลาดสารภีท่าช้าง สู่ตลาดหอมแผ่นดิน จ.อุบลราชธานี
วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมี นายอนุชา อุ้ยเส้ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ ในฐานะพัฒนากรผู้รับผิดชอบ พร้อมด้วย นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมสนับสนุนการตรวจติดตามฯ ในครั้งนี้
ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตั้งอยู่ที่ บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งเมื่อปี 2518 โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับบริจาคที่ดินทั้งหมด 50 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารฝึกอบรมและมีเจ้าหน้าที่ดูแล ตั้งอยู่ในเขตบ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อปี 2556 สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ และได้มอบหมายให้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ แผนผังการใช้ศูนย์สารภี และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและระเบียบข้อบังคับของศูนย์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวทางในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ให้เป็นต้นแบบบโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์พัฒนาศูนย์ฯ ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายให้ศูนย์ฯ ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนอื่น
ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) นอกจากจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แล้ว ยังมีฐานเรียนรู้จำนวน 20 ฐาน ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้เดิม 10 ฐาน ได้แก่ ฐานเรียนรู้เพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกผักสวนครัว พุทราสามรส นวดแผนไทย การปลูกข้าว เลี้ยงปลาหมอไทย เลี้ยงไก่ ทอเสื่อ ปลูกดาวเรือง ปลูกแก้วมังกร และฐานเรียนรู้โคกหนองนาที่มีการอบรมในศูนย์ จำนวน 10 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี คนเอาถ่าน คนมีน้ำยา คนมีไฟ คนรักษ์สุขภาพ คนหัวเห็ด คนรักษ์แม่โพสพ คนรักษ์น้ำ คนรักษ์ป่า คนรักษ์ดิน ทั้งนี้ ยังได้สำรวจพื้นที่แปลงสาธิตอื่นๆที่ดำเนินการในพื้นที่เพิ่มเติม ได้ แก่แปลงมัลเบอรี่ แปลงผักกูด โรงเลี้ยงแพะ สวนกล้วย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก แปลงเกษตรพันธุกรรมพืชสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น
โอกาสนี้ นายภคิน ศรีวงศ์ ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ว่า “ขอชื่นชมการพัฒนาพื้นที่ของศูนย์สารภีท่าช้าง ของอำเภอสว่างวีระวงศ์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และคณะกรรมการศูนย์สารภีทุกท่าน ด้วยความรักและผูกพัน เนื่องจากผมเคยรับผิดชอบดูแลสถานที่แห่งนี้ ในช่วงก่อนมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่ทำให้ปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่มาศึกษาเรียนรู้ได้ชื่นชม นอกจากนั้นยังมีอาคารสถานที่ และ “ที่ทำการพัฒนากร” ที่พร้อมในการให้คำแนะนำต่อผู้ที่สนใจอีกด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้มุ่งหวังที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการการเรียนรู้ การฝึกอบรมอาชีพให้กับชุมชน พร้อมทั้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่ส่งเสริมสนับสนุนประชาชนด้านการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือแบรนด์ผลผลิตที่เกิดจาก “โคก หนอง นา พช.” และสินค้า OTOP ในชุมชนท้องถิ่น”
นายภคิน ศรีวงศ์ ยังได้เปิดเผยถึงข้อสั่งการ จากกรมการพัฒนาชุมชน อีกว่า “ในฐานะที่ศูนย์สารภีท่าช้างแห่งนี้ ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.) จึงขอฝากให้ทุกท่านได้ช่วยกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และความห่วงใยจากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ต่อเนื่อง โดยการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และพริกให้ครบทุกบ้าน โดยเฉพาะการปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร นั้น ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากทุกครัวเรือนมีการปลูกพืชสมุนไพรไทย จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ในท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ได้อย่างปลอดภัย และต่อเนื่องจนเป็นนิสัยหรือวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน อีกด้วย”
ขณะที่ นายอนุชา อุ้ยเส้ง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบ ได้เปิดเผยและให้ข้อมูลการศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ว่า “อำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ระดับตำบล จำนวน 2 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน จำนวน 119 แห่ง โดยมีการดำเนินงานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง และได้จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ และกล้าไม้ ไว้แจกจ่าย ภายใต้ชื่อ “ตลาดสารภีท่าช้าง” ขึ้น โดยการสนับสนุนของ นายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้นำเครือข่ายธนาคารน้ำใต้ดิน มาเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงานร่วมกับเครือข่าย โคก หนอง นา พช. อำเภอสว่างวีระวงศ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของครัวเรือนต้นแบบ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) นอกจากนั้น ยังได้เชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าไปจำหน่ายยัง “ตลาดหอมแผ่นดิน” ซึ่งเกิดจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยปรับพื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นแหล่งเรียนรู้โคก หนอง นา และเปิดเป็นตลาดเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรจำหน่ายและผลผลิตทางการเกษตร เพื่อช่วยการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ได้นำผลผลผลิตจาก “โคก หนอง นา พช.” เช่น ผัก ผลไม้ ต้นพันธุ์ผัก และต้นไม้ มาจำหน่ายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่นและเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และนโยบายของรัฐบาล ด้วย” นายอนุชา กล่าวปิดท้าย ด้วยความภาคภูมิใจ
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.สว่างวีระวงศ์ ภาพข่าว/รายงาน