สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 จังหวัดตรัง จัดวางทุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนและมีอยู่จำนวนมากในจังหวัดตรัง
ที่ท่าเทียบเรือบ้านหาดยาว ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีจัดวางทุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของพะยูน ทั้งนี้นายประถม รัสมี ผ็อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 จังหวัดตรัง กล่าวว่าคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง และผู้เกี่ยวข้องในการจัดวางทุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลในครั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่าพะยูนเป็นสัตว์สงวนภายใต้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตรังซึ่งพบพะยูนมากที่สุดในประเทศไทยถึง 185 ตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนพะยูนที่พบประมาณ 250 ตัว แหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูนคือแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรังมีแหล่งหญ้าทะเลมากกว่าสามหมื่นกว่าไร่ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลิบงและบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งหญ้าที่มีพะยูนอยู่อาศัยหากินมากที่สุด แหล่งหญ้าทะเลนอกจากเป็นแหล่งอาหารของพะยูนแล้ว ยังถือเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งประกอบอาชีพด้านการทำประมงของประชาชนในพื้นที่ด้วย จึงทำให้พะยูน มีโอกาสได้รับผลกระทบมีความเสี่ยงหรืออาจได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท ที่ผ่านมาพบพะยูนได้รับอันตรายและตายจากสาเหตุเกี่ยวกับเครื่องมือประมง นอกจากนี้พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลเกาะลิบงยังอยู่ในเส้นทางสัญจรหลักทางน้ำ การเดินเรือ การขนส่งทางเรือ กิจกรรมท่องเที่ยวและพบว่าพะยูนได้รับบาดเจ็บจากการแล่นเรือผ่านในพื้นที่
จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีความพยายามของพี่น้องประชาชน ชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางและมาตรการเพื่อลดภัยคุกคามลดอุบัติเหตุจากกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพะยูนทั้งแหล่งหากินและแหล่งอาศัย ลดการรบกวนลดปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับพะยูน โดยที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้มีการจัดประชุมหารือกันทั้งพี่น้องชาวประมง กลุ่มอนุรักษ์ ผู้นำชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งอาศัยพะยูนขึ้น ได้จัดทำกติกาชุมชนในการเข้าไปใช้ประโยชน์การทำประมงในพื้นที่ด้วยเครื่องมือที่ไม่เป็นอันตรายลดและการใช้เครื่องมือที่จะส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบกับพะยูน และมีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการเดินเรือ และการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดเป็นการรบกวนพะยูน รวมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่การบังคับใช้กติกาในพื้นที่เกาะลิบงและใกล้เคียงรวมพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร และต่อมาเพื่อให้มีขอบเขตอย่างชัดเจนจึงเสนอให้มีการจัดทำสัญลักษณ์แสดงแนวเขต โดยให้หน่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและ สทช 7 ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมู่เกาะลิบง ดำเนินการจัดหางบประมาณและจัดทำทุ่นสำหรับมาจัดวางแสดงขอบเขตพื้นที่ให้มีความชัดเจนเพื่อให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ที่เข้าไปได้ทราบ ในการจัดวางทุ่นครั้งนี้มีจำนวน 16 จุด ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 500 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 20 กิโลเมตร
มนต์เจริญ ศรีมงคล จ.ตรัง