ประจวบคีรีขันธ์​ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไฟเขียวเจ้าของฟาร์มซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ฉีดให้สัตว์เลี้ยง

รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไฟเขียวเจ้าของฟาร์มซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ฉีดให้สัตว์เลี้ยง

วันที่ 4 มิถุนายน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมฟาร์มวัว ชวนชื่น เลขที่ 17/1 หมู่ที่ 9 ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขัน โดยรัฐมนตรีฯฟังการดำเนินงานของฟาร์มวัว ชวนชื่น เริ่มเลี้ยงโคเนื้อมาตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 33 ปี เป็นฟาร์มที่ปลูกปาล์มน้ำมันควบคู่การเลี้ยงโคเนื้อซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 ตัว เพื่อประกันความเสี่ยงในเรื่องภัยธรรมชาติและราคาผลผลิตผันผวน นอกจากนี้ การทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ยังช่วยเกื้อกูลกันคือสวนปาล์มได้ปุ๋ยจากมูลโค ส่วนโคก็ได้กินหญ้าเป็นอาหาร โดยการเลี้ยงโคของฟาร์มแห่งนี้เป็นระบบคอกกว้าง ใช้แม่พันธุ์กำแพงแสนผสมกับพ่อพันธุ์บีฟ มาสเตอร์ และมีการเลี้ยงโคทดลองขุนเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมฟาร์มและปรึกษาการเลี้ยงโคเนื้ออย่างต่อเนื่อง

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมฟาร์มวัว ชวนชื่น พบว่าแม้จะเป็นฟาร์มใหญ่ มีการเลี้ยงโคเนื้อนับพันตัว แต่ยังไม่พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ เนื่องจากเจ้าของฟาร์มดูแลรักษาความสะอาดคอกและโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการใช้วิธีธรรมชาติด้วยการฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ที่ตัวโคและพื้นคอก โรงเรือน เพื่อไล่แมลงดูดเลือดพาหะนำโรคลัมปี สกิน จึงอยากให้เกษตรกรรายอื่นเอาใจใส่ดูแลสุขภาพสัตว์และความสะอาดภายในฟาร์มของตนเอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรทุกจังหวัดแล้ว และได้กำชับให้ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ เร่งวางแผนควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ของตนเองอย่างเต็มที่

ส่วนวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ ได้นำเข้าล็อตแรกแล้ว 60,000 โด๊ส และในสัปดาห์หน้าจะนำเข้ามาเพิ่มอีก 300,000 โด๊ส โดยคณะทำงานบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน กระทรวงเกษตรฯ กำลังวางแผนการกระจายวัคซีนตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ จากนั้นกรมปศุสัตว์พร้อมที่จะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับโคและกระบือของเกษตรกรทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้เป็นการฉีดเพื่อรักษาแต่เป็นการฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย ส่วนเจ้าของฟาร์มรายใดที่มีศักยภาพต้องการจะซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเอง ภาครัฐไม่ปิดกั้น สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยสั่งนำเข้าวัคซีนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ได้ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ เป็นอย่างมาก โดยพร้อมอนุมัติงบกลางให้กับกรมปศุสัตว์ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งบางพื้นที่อาจจะมีการแจกมุ้ง แจกวิตามินตามที่สัตวแพทย์เสนอแนะ เพื่อหยุดยั้งโรคนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ขอให้เกษตรกรอย่าซื้อวัคซีนผิดกฎหมายที่ไม่ผ่านการรับรองจาก อย.มาใช้เอง พร้อมยืนยันว่า โรคลัมปี สกิน ไม่ติดจากสัตว์สู่คน เนื้อโคที่ป่วยตายสามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตราย

ด้าน นายวิวัฒน์ ไชยชอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร กรณีการระบาดของโรคลัมปี สกิน ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2560 และ ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2562 มีหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2563 เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2556 โดยหากโค กระบือ ของเกษตรกรตายอันเนื่องมาจากโรคลัมปี สกิน จะได้รับเงินชดเชย ตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัวเป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากเกษตรกร สัตว์อายุ น้อยกว่า 6 เดือน โคจ่ายเงินเยียวยา 6,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 8,000 บาทต่อตัว จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัวต่อราย, อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 12,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 14,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 16,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 18,000 บาทต่อตัว, อายุมากกว่า 2 ปี โคจ่ายเงินเยียวยา 20,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยา 22,000 บาทต่อตัว

ขณะที่ นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 4 มิ.ย.64 พบโคเนื้อและโคนมใน จ.ประจวบฯ ป่วยติดเชื้อโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.เมือง อ.ทับสะแก อ.บางสะพานน้อย จำนวนโคป่วยรวม 875 ตัว หายป่วยแล้ว 192 ตัว ตาย 10 ตัว เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 281 ราย อำเภอที่พบโคป่วยสูงสุดคือ อ.สามร้อยยอด จำนวน 105 ตัว รองลงมาคือ อ.ปราณบุรี 85 ตัว อ.หัวหิน 39 ตัว จังหวัดได้ออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชนิดลัมปี สกิน ในสัตว์ชนิดโคและกระบือครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกพื้นที่ พร้อมกันนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

///////////////////

ณัฐธภพ​ พันสาย​ / จ.ประจวบคีรีขันธ์​ รายงาน