ปทุมธานี   เอาจริงบังคับสวมหน้ากากอนามัย100%สกัดโควิด-19ฝ่าฝืนปรับ20,000บ.

ปทุมธานี   เอาจริงบังคับสวมหน้ากากอนามัย100%สกัดโควิด-19ฝ่าฝืนปรับ20,000บ.
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี แถลงคำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่3927/ 2564 การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี เรื่อง ให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติม
ตามที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค – 19) ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติไปแล้วนั้นโดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบันตามรายงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขจังหวัด ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในพื้นที่ของจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายออกไปเป็นวงกว้างทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสกัดกั้นและระงับยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ได้อย่างทันท่วงที อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 23/2564 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564

จึงให้ปิดสถานที่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติม ดังนี้
ข้อ 1 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรคดังต่อไปนี้ เป็นการชั่วคราว
(1) สนามชนโค สนามชนไก่ สถานที่ซ้อมประลองไก่ สนามกัดปลา รวมทั้งสนามซ้อมหรือสนามประกวด แข่งขัน ฝึกซ้อมสัตว์ หรือกิจกรรมอื่นในทำนองเดียวกัน
(2) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
(3) สถานที่เล่นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนน้ำและสวนสนุก ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
(4) ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา
(5) สระว่ายน้ำสาธารณะ รวมถึงสระว่ายน้ำของหมู่บ้านหรืออาคารชุดพักอาศัย
ข้อ 2 การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
(1)ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพรโรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 ดังนี้
ก. เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข. เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
ค. เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
(2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 10 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ 3 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขเงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ดังนี้
(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา21.00 นาฬิกา และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00นาฬิกา ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น
(2) ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุราตลอดเวลา
(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
(4) ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆแต่ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 นาฬิกา
(5) ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา
(6) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00นาฬิกาและสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการดังกล่าว ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ และงดการเล่นแบบรวมกลุ่ม การอบตัวหรืออบไอน้ำแบบรวม


ข้อ 4. กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติม
(1)ให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีทุกคน ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีทุกครั้งก่อนออกจากเคหสถานหรือสถานที่ทำงาน หรือเดินทางไปในสถานทีสาธารณะ หรือสถานที่ใด สำหรับบุคคลซึ่งอยู่ในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ใด ๆ ที่ต้องติดต่อกับบุคคลอื่น หรืออยู่รวมกันของคนหมู่มาก ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าด้วยทุกครั้ง ตลอดเวลาผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
(2) ให้ประชาชนงดการรวมกลุ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกสถานที่ เว้นแต่การดื่มของสมาชิกภายในครอบครัวภายในที่พักอาศัยเท่านั้น


ข้อ 5 การขอความร่วมมือประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้
(1) งดออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักภายหลังเวลา 21.00 นาฬิกา จนถึง 04.00นาฬิกา ของวันถัดไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
(2) จัดให้มีการดำเนินการรูปแบบปฏิบัติงานของบุคลากรในความรับผิดชอบโดยอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การสลับวันทำงาน หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ หรืองดการรับประทานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 18แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในบรรดาประกาศและคำสั่งที่ได้ออกไว้ก่อนหน้านี้ให้มีผลบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งฉบับนี้ อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564
(นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม)ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดปทุมธานี