ปทุมธานี สั่งปิดสถานบริการทั่วจังหวัด ตามมติ “ศบค.”
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 10 เม.ย.2564นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 3500 / 2564 ว่าตามที่ ศบค.ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19) ให้ปิดสถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งอยู่ในจังหวัดที่พบการระบาดจำนวนมาก และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ปิดดำเนินการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน ใน 41 จังหวัด ซึ่งจังหวัดปทุมธานี ก็เป็นจังหวัดหนึ่งในนั้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี จึงมีมติให้ปิดสถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ทุกแห่งในพื้นที่เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน
คำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 3500 / 2564 เรื่อง ให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว
ตามที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีคำสั่งฯที่ 1958/2564ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564และคำสั่ง ๆ ที่ 3089/2564 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2564 ได้กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในการป้องกัน ระงับยับยั้ง และลดโอกาสการระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ไปแล้ว นั้นโดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ติดเชื้อได้กระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว จากการติดตามและสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขพบว่า การแพร่ระบาดในลักษณะกลุ่มก้อนนี้ ผู้ติดเชื้อหลายรายมีกรณีเชื่อมโยงกับการเข้าใช้บริการของสถานบันเทิงหรือสถานบริการประเภทต่าง ๆ โดยที่มิได้แสดงอาการของโรคและได้แพร่โรคออกไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ที่สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากไม่ดำเนินการเข้าควบคุมก็อาจเกิดการรวมกลุ่มของบุคคลในสถานที่ดังกล่าว โดยละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดจึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนสำหรับสถานที่เสี่ยงต่อการแพโรคนี้เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และข้อกำหนด ฯ(ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 3 เมษายน 2564 ผู้ว่าราชกรจังหวัดปทุมธานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 20/2564 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 จึงให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
ดังนี้ ข้อ1ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564ถึงวันที่ 23 เมษายน 2564
ข้อ 2 การตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าตรวจพื้นที่ สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมนั้น ๆให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา 18แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชกรในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในบรรดาประกาศและคำสั่งที่ได้ออกไว้ก่อนหน้านี้ให้มีผลบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งฉบับนี้
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นข้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา30วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564
(นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม) ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดปทุมธานี