เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกพืชแทนนาปรังเพียง 3 อำเภอ ขณะที่ ผลผลิตสร้างรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรัง
นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้สำรวจเกษตรกรเข้าสู่ “โครงการปลูกพืชหลากหลายแทนนาปรัง” เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และส่งเสริมให้เกษตรกรลดรอบการทำนาในฤดูนาปรัง มีรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว พบว่า จากการสำรวจระหว่างเดือนพฤศจิกายน2563 และจะสิ้นสุดเดือนเมษายน 2564 มีเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้เพียง 3อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอนครหลวง 3 ตำบล อำเภอบ้านแพรก 2 ตำบล และอำเภอท่าเรือ1 ตำบล รวม 60 ราย จำนวน 100 ไร่ เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีน้ำน้อยขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตรจังหวัดฯ พยายามสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การเพาะปลูกพืชอื่นในพื้นที่นา พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ส่วนพืชที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ประกอบด้วย ถั่วเขียว พืชผัก ถั่วเหลือข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง แตงโม แตงไทย และข้าวโพดฝักอ่อน
ซึ่งหลังจากจำหน่ายผลผลิตเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 4,205 บาท/ไร่ สูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังถึง 2,700 บาท/ไร่ พร้อม
ระบุ สิ่งจูงใจให้เกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นทดแทนมากที่สุด คือ การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ รองลงมาคือ การมีปริมาณน้ำเพียงพอ และรายได้ที่ได้รับสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามล่าสุด เกษตรจังหวัดฯ กำลังเร่งสำรวจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องประจำปี 2565 แล้ว
นิตยา หิรัญประดิษฐ์(ผู้สื่อข่าว) ชาญ ชูกลื่น รายงาน