ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัด มท. ปิดฝึกอบรมผู้นำพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่น 13

ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัด มท. ปิดฝึกอบรมผู้นำพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่น 13 ย้ำทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จ
👉 วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานพิธีปิดหลักสูตรการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 13 ระหว่างวันที่ 22- 26 มีนาคม 2564 โดยมี นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวต้อนรับ เเละนายวสันต์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอ ส่วนราชการระดับอำเภอ ร่วมต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง


นายประชา เตรัตน์ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต โคก หนอง นา โมเดล คือการสืบสาน รักษา ต่อยอด เเละพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เเละการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชา เเละน้อมนำเอาเเนวคิดเเละทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี 4000 โครงการ ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม เเละสิ่งเเวดล้อม โดยชื่นชมการดำเนินงานของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ได้การขับเคลื่อนงาน โคก หนอง นา โมเดล อย่างเข้มเเข็งเเละประสบความสำเร็จ จนเป็นสถานที่เรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนทั้งระดับจังหวัด อำเภอให้ความร่วมมือเเละช่วยกันขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งขอให้กลุ่มเป้าหมายนำความรู้ที่ได้รับ ไปปฏิบัติให้เกิดผล สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เเละพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้แก่คนในชุมชนต่อไป

ในการนี้ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ ผู้ก่อตั้งเเละที่ปรึกษาศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ได้นำคณะท่านของประชา เตรัตน์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ พื้นที่ 25. ไร่ เเละให้ข้อคิดในการประยุกต์หลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 100 คน เเละผู้สมัครใจ จำนวน 4 คน รวม 104 คน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ตำบลหนองบัวบาน อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
👉 จังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มเป้าหมายการฝึกอบรม จำนวน 16 รุ่น รวม 1,636 คน ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ เเล้วจำนวน 13 รุ่น รวม 1,339 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์คณะวิทยากรเเละสถานที่ฝึกอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ ตำบลหนองบัวบาน อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
📷/ข่าว กง.ยุทธศาสตร์ฯ สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์