สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้
พช. – กลุ่ม OTOP 14 จังหวัดภาคใต้ ชื่นชมพระปรีชาชาญ สืบสานยกระดับคุณค่าหัตถศิลป์ ภูมิปัญญาถิ่นไทย ก้าวไกลสู่ระดับสากล

22 มีนาคม 2564

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และพัฒนาการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ เฝ้ารับเสด็จฯ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 71 กลุ่ม อันประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องแต่งกาย 53 กลุ่ม และงานหัตถกรรม 18 กลุ่ม ทั้งนี้ ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ประกอบการ ที่เฝ้ารับเสด็จฯ และพระวินิจฉัยแนะแนวทางการพัฒนากรรมวิธี คุณภาพ ลวดลาย เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ด้วยทรงเล็งเห็นถึงการอนุรักษ์หัตถกรรมศิลป์อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าที่สะท้อนถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยพระดำริแห่งการคงวิถีความเป็นอัตลักษณ์ผสานกับการยกระดับให้ร่วมสมัยสู่สากล นำความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจอย่างที่สุดแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่ได้รับโอกาสอันดี ในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า “เป็นมิ่งมงคลของกรมการพัฒนาชุมชน พี่น้องผู้ประกอบการ OTOP 14 จังหวัดภาคใต้ ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาเสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ในครั้งนี้ ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาหัตถกรรมพื้นบ้านไทย ที่สืบทอดงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของไทย ที่ทรงมีพระราชดำริจะอนุรักษ์ และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืน นับเนื่องจากพระองค์ทรงมีโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน 3 ภูมิภาค โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและหัตถกรรมชุมชน จำนวนกว่า 195 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในการเสด็จดำเนินเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร อันเป็นที่มาของพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และมีพระกรุณาธิคุณประทานแบบลายผ้า ชื่อลาย”ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมาย ถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ ชาวไทยทุกคน ไปสู่กลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ทั่วทุกภูมิภาค สร้างปรากฏการณ์ปลุกกระแสกลุ่มทอผ้า 4 ภาค และวงการผ้าไทยให้เกิดความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ด้วยน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงห่วงใยพี่น้องทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีพระประสงค์มาทรงงานที่จังหวัดนราธิวาส โดยการเสด็จเยือนพื้นที่ภาคใต้ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากการเสด็จทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และทรงเยี่ยมประชาชน ทอดพระเนตรการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ้าพื้นเมือง และงานศิลปหัตถกรรมภาคใต้ ณ โรงละคร สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 โดยในคราวนั้นทรงพระดำรัสแนะนำ ในการปรับปรุงต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จวบจนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อเกิดการเพิ่มพูนรายได้ และคุณภาพ ได้อย่างดียิ่ง

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า “สำหรับการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องแต่งกายและหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ในครั้งนี้ ได้รวบรวมสุดยอดฝีมือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 4 – 5 ดาว ทั้งหมด 71 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นผลิตภัณฑ์ผ้า 53 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม 18 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการจัดนิทรรศการ และส่วนกิจกรรมการสาธิต โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ โดดเด่น อาทิ


– ผ้ายกเมืองนคร กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางวิไล จิตเวช ผ้ายกเมืองนคร ผ้าพื้นเมืองเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช สวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดีในหมู่คนชั้นสูง อัตลักษณ์สำคัญ คือ ดอกผ้าจะยกนูนขึ้นเห็นลายชัดเจน และมีความละเอียดประณีต กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค เดิมทอผ้าฝ้าย ขนาด 2 หลา จำหน่ายในราคา 4,000 บาท เมื่อได้รับคำวินิจฉัยให้ทอสลับดิ้นเงิน ดิ้นทอง เปลี่ยนเส้นผ้าฝ้ายใช้เส้นนิ่ม และให้ใช้เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีน้ำเงินสลับดิ้นเงิน เมื่อนำออกจำหน่ายทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด จำหน่ายผ้าขนาด 2 หลา ราคาผืนละ 10,000 บาท ยอดจำหน่ายตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง เดือนมีนาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 880,000 บาท (55,000 ต่อเดือน)


– กลุ่มกระจูด บ้านทอนอามาน จังหวัดนราธิวาส โดย นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง และกลุ่มกระจูด บ้านโคกพะยอม จังหวัดนราธิวาส โดย นางเจ๊ะเสาะ แวฮูลู โดยการรับสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นกระเป๋ากระจูดที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระดำริให้จักสานกระเป๋าใบใหญ่ๆ ลายเล็กๆ ซึ่งทางกลุ่มก็ได้จักสานให้เป็นกระเป๋าแฟชั่นมากยิ่งขึ้น ใช้ได้ทุกวัยคงทนสวยงาม
– กลุ่มศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดย พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้เครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ ปี 2528 โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เน้นการนำทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุและแรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก


– ผ้าบาติก กลุ่มเยาวชนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส โดย นางสาวคอยรุนนีซาอ์ งานฝีมือที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการในการวาด เป็นผ้าเก่าแก่ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ยาวนาน เผยแพร่หลายในประเทศไทยตอนล่างมาหลายร้อยปี ปัจจุบันยังคงรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาและมีการพัฒนาสานต่อให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
– กลุ่มผ้าปักบ้านบือแรง จังหวัดนราธิวาส โดย นางสิติมา ดุรอแม ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งสิ้น 50 คน โดดเด่นด้วยการใช้ด้ายไหมที่สมาชิกย้อมสีเอง ฝีปักที่ละเอียดอ่อนประณีต และหลากหลายแบบ อาทิ งานลายธรรมชาติและงานฉายที่แสดงออกถึงเรื่องราว วัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย


– ผ้ายกดอกจันทน์กะพ้อ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกาหลง จังหวัดนราธิวาส โดย นางอำไพ โพธ์พันธุ์ โดดเด่นด้วยกรรมวิธีโบราณจำนวน 24 ตะกอโดยการยกเขาเก็บตะกอลายเพื่อคัดยกเส้นยืนบางเส้นขึ้นข่มบางเส้นลง และทอสอดเส้นด้ายพุ่ง ระหว่างกลางซ่องที่เปิดอ้าก่อเกิดเป็นลวดลายดอกจันทน์กะพ้อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกจันทน์กะพ้อ พัฒนาเป็นลวดลายผ้ายก โดยใช้กระบวนการย้อมเส้นใยด้วยสีธรรมชาติทั้งหมด

– ผ้าเกาะล้วงทางช้าง บ้านสายบน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสายบน จังหวัดนราธิวาส โดย นางวรรณณี แสงมณี ผ้าฝ้ายทอสองตะกอทอลายขัดธรรมดาใช้ด้ายพุ่งสลับสีเป็นช่วงๆ พุ่งสอดเกาะเกี่ยวกับเส้นยืนให้เป็นเกิดลวดลาย สร้างสรรค์เป็นลวดลายผ้าทอที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของคนในชุมชน เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่มีลักษณะสูงชันคดเคี้ยวซิกแซกในการสัญจร ขึ้น-ลง บ้านสายบนเส้นทางดังกล่าวนี้เรียกกันว่า “ทางช้าง”

– กลุ่มศิลปาชีพย่านลิเภา จังหวัดนราธิวาส โดย นายยะโกะ สามาเต๊ะ จากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระประสงค์ให้พสกนิกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรายได้มีงานทำพร้อมกับสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ จึงได้มีพระราชดำรัสให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2519 เข้ามาส่งเสริมอาชีพการผลิตย่านลิเภาและพัฒนาฝีมือของตนเองจนได้เป็นครูศิลปาชีพเมื่อปี 2524

– ผ้าไหมยกดอกลายดาวล้อมเดือน กลุ่มทอผ้า บ้านท่ากระจาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นางอะ คชสวัสดิ์ กลุ่มทอผ้าของชุมชนชาวมุสลิม ปัจจุบันมีการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งมีผ้ายกดอกลายดาวล้อมเดือน ลายดอกเครือวัลย์ ราชวัตรโดม ดอกพิกุลล้อม เป็นผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าทอที่นี่ยังคงทอด้วยกี่พื้นเมือง หรือกี่กระทบมือ
– ศิวะนาฎกนกไทย จังหวัดพัทลุง โดย นายยุทธพล ซุ่นเซ่ง ผ้าย้อมสีธรรมชาติชัยบุรี เมืองพัทลุง อันมีขั้นตอนที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ ก่อนจะเริ่มพิมพ์ลายผ้าแต่ละครั้ง จะต้องมีการไหว้ครูเพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีรูปแบบการวางลายและแบบผ้า ที่มีรูปแบบเฉพาะ เหมือนตำรายันต์พิชัยสงครามหรือรูปแบบการจัดทัพ

– ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านสะพานพลา จังหวัดสงขลา โดย นางสุวรรณี รักวิจิต ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คน ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม คือ ผ้าฝ้ายและผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น ทางกลุ่มได้ผลิตเป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมสี หินลูกรัง ซึ่งจะได้สีโอรสที่สวยงาม ซึ่งเป็นสีที่ทางกลุ่มยึดเป็นสีหลัก
– กลุ่มผ้าทอ นิคมกือลอง จังหวัดยะลา โดย นางหนูเตียน ผันผ่อน เป็นกลุ่มแรกกลุ่มเดียวในจังหวัดยะลา ที่มีความพิเศษในการใช้เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติจากท้องถิ่นอำเภอบันนังสตา 100% สู่การประยุกต์ลงบนผืนผ้าทอ
– ผ้าปะลางิง ศรียะลาบาติก จังหวัดยะลา โดย นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผ้าทอมือพิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบเห็นผ้าชนิดนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2472 ในขบวนรับเสด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราที่เสด็จประพาสที่รัฐปัตตานี จากนั้นผ้ามรดกเมืองใต้นี้ก็สูญหายไป พร้อมกับการเลิกเลี้ยงไหมในภาคใต้ กลุ่มศรียะลาบาติก สืบสานภูมิปัญญาผ้าปะลางิง ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสคุณค่ามรดกสิ่งทอจากปักษ์ใต้

– ผ้าทอจวนตานี กลุ่มทอผ้าบ้านตรัง จังหวัดปัตตานี โดย นางสาวสิริอร ทับนิล ด้วยการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า ผ้าทอลายจวนตานี หัตถศิลป์บนผืนผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานเส้นสาย มี 5 ลาย ได้แก่ ลายกอซัง ลายก้นหอย ลายปักเป้า ลายดอกศรีตรัง และลายโคมไฟ แต่ละลายมีแถบสีคั้นอยู่ 7 สี 7 เส้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านตรัง

 

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาถิ่นใต้ ซึ่งหลากหลายผลิตภัณฑ์มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ฝีมืออันประณีต ควรค่าต่อการพัฒนาต่อยอดให้ภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่าโด่งดังไกลสู่สากล สมดังพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งหัตถศิลป์ไทย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีความยินดียิ่งในการน้อมนำแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทยที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงพระราชทาน ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป”